Cites

CITES (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora)  
 คือ อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศเกี่ยวกับสัตว์ป่าและพืชพรรณจากป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ ถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 เพื่อปกป้องและคุ้มครองสัตว์ป่าและพืชพรรณป่าจากการใช้ประโยชน์เพื่อการค้าระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นมากจนอาจทำให้สัตว์และพืชบางชนิดสูญพันธุ์ได้ ปัจจุบันมีประเทศที่เป็นสมาชิกอนุสัญญา CITES ทั้งสิ้น 152 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยซึ่งเข้าเป็นประเทศภาคีสมาชิกอนุสัญญา CITES เมื่อปี พ.ศ. 2526

    

      ภายใต้อนุสัญญา CITES ประเทศสมาชิกต้องจัดให้มีบทบัญญัติทางกฎหมายที่ใช้บังคับตามข้อกำหนดของอนุสัญญา โดยการห้ามทำการค้าพันธุ์พืชและสัตว์ที่เป็นการละเมิดอนุสัญญา CITES และมีการกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืน ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกอนุสัญญา CITES จะประชุมกันในทุก 2 ปี เพื่อทบทวนการนำข้อบังคับของ CITES ไปใช้ ตลอดจนเพื่อทบทวนความเหมาะสมของบัญชีสัตว์และพืชที่อยู่ในอนุสัญญาด้วย

    

     สำหรับบัญชีพืชและสัตว์ตามข้อกำหนดของอนุสัญญา CITES (Appendix) สามารถจำแนกตามความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ได้ดังนี้ Appendix I เป็นบัญชีสัตว์ป่าหรือพืชพรรณป่าที่ใกล้สูญพันธุ์และอาจสูญพันธุ์ได้หากยังนำมาค้าขายกันอยู่ เช่น กล้วยไม้รองเท้านารี กล้วยไม้เอื้องปากนกแก้ว เป็นต้น การค้าสัตว์หรือพืชที่ใกล้สูญพันธุ์มีข้อกำหนดที่เข้มงวดมากจนอาจเรียกได้ว่าเป็นบัญชีสัตว์หรือพืชที่ห้ามทำการค้าขายกันโดยปริยาย เว้นแต่เป็นการขยายพันธุ์หรือ เพาะพันธุ์เพื่อการศึกษาและวิจัยเท่านั้น

    Appendix II เป็นบัญชีสัตว์ป่าหรือพืชพรรณป่าที่เหลือค่อนข้างน้อยแต่ยังไม่ใกล้สูญพันธุ์ เช่น ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง  ต้นปรง 

ต้นพญาไร้ใบ ต้นกฤษณา เป็นต้น สัตว์หรือพืชในบัญชีนี้ได้รับอนุญาตให้มีการค้าขายได้ อย่างไรก็ตาม หากไม่มีการควบคุมที่เข้มงวด อาจสูญพันธุ์ได้ในที่สุด

    Appendix III เป็นบัญชีสัตว์ป่าหรือพืชพรรณป่าที่ประเทศสมาชิกแต่ละประเทศเห็นว่ามีความจำเป็นต้องให้ความคุ้มครอง จึงขอความร่วมมือจากประเทศสมาชิกอื่นให้ช่วยควบคุมการค้าพืชหรือสัตว์พันธุ์นั้นๆ ด้วย เช่น การควบคุมการค้ามะเมื่อยจากประเทศเนปาล การควบคุมการค้านกขุนทองจากประเทศไทย เป็นต้น

    

      ในการเสนอพันธุ์พืชหรือพันธุ์สัตว์ที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์บรรจุเข้าในบัญชีตามอนุสัญญา CITES นั้น พืชหรือสัตว์พันธุ์ที่เสนอนั้นต้องยังมีการซื้อขายระหว่างประเทศ และประเทศที่มีพืชหรือสัตว์พันธุ์นั้นอยู่ต้องการให้ประเทศภาคีช่วยควบคุมดูแลมิให้มีการทำการค้าพืชหรือสัตว์พันธุ์นั้นมากจนเกินไป นอกจากนี้ การย้ายรายชื่อพันธุ์พืชหรือพันธุ์สัตว์ข้ามบัญชีหรือการถอดถอนรายชื่อออกจากบัญชีสามารถทำได้ในกรณีที่จำนวนประชากรพืชหรือสัตว์นั้น มีมากพอที่จะดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไปได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการคุ้มครองจากอนุสัญญา CITES อีกต่อไป

    ในกรณีของประเทศไทยซึ่งเป็นแหล่งสัตว์ป่าและพืชพรรณป่าหายากเป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกันก็มีการค้าพันธุ์พืชป่าและสัตว์ป่าหายากเป็นจำนวนมากทั้งในประเทศและนอกประเทศ จึงจำเป็นที่จะต้องเร่งให้ความคุ้มครองสัตว์ป่าและพืชพรรณป่าที่ใกล้สูญพันธุ์เหล่านั้นอย่างจริงจัง โดยมีแนวทางดังนี้

1. วางกฎเกณฑ์ปฏิบัติอย่างชัดเจนสำหรับการห้ามค้าพืชและสัตว์ภายใต้อนุสัญญา CITES เพื่อให้การคุ้มครองสัตว์ป่าและพืชพรรณป่าได้ผลอย่างจริงจัง
2.กำหนดบทลงโทษแก่ผู้กระทำผิดอย่างสมเหตุสมผลมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากบทลงโทษด้วยการเปรียบเทียบปรับในปัจจุบันมีมูลค่าต่ำมากเมื่อเทียบกับมูลค่าสินค้าที่ลักลอบซื้อขายกัน
3. พัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรในการจำแนกพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ เพื่อให้การตรวจสอบเพื่อจับกุมหรือการอนุญาตให้ค้าพันธุ์พืชและสัตว์เป็นไปได้อย่างราบรื่น

4. ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปและผู้เกี่ยวข้องทราบถึงความสำคัญของทรัพยากรสัตว์ป่าและพืชพรรณจากป่า เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากพืชและสัตว์ป่าอย่างยั่งยืนและได้รับประโยชน์จากอนุสัญญา CITES อย่างเต็มที่

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

โครงงานกล่องดินสอจากไม้ไอติม

ประเทศสมาชิกอาเซียน

ภาษาและวัฒนธรรมยุโรป